Sunday, April 20, 2008

ตำนาน(ผี)แม่นากพระโขนง

เรื่องราวโดยย่อของแม่นาคพระโขนง
ณ กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้วมีสามีภรรยาที่รักกันมากคู่หนึ่งอาศัยอยู่ริมคลองวัดมหาบุศย์เขตพระโขนง ภรรยาชื่อนาค สามีชื่อทิดมาก ทั้งคู่ปลูกเรือนหลังเล็กๆ อยู่ห่างไกลจากผู้คนมาพอสมควร เมื่ออยู่กันได้ไม่นานนางนาคก็ตั้งท้องขณะที่บ้านเมืองกำลังเกิดศึกสงคราม ทิดมากจึงถูกเกณฑ์ให้ไปเป็นทหาร และต้องออกรบยังต่างเมือง ไม่นานนางนาคก็คลอดลูกกับหมอตำแยโดยทิดมากไม่ได้อยู่ดูแล โชคร้ายที่นางนาคเจ็บท้องจนทนไม่ไหวจึงสิ้นใจตายพร้อมลูกในท้องในเวลาต่อมา แต่ด้วยความรักที่มีต่อผัวจึงไม่ยอมไปผุดไปเกิด และรอวันที่ผัวจะกลับมา ระหว่างนั้นก็เที่ยวหลอกหลอนชาวบ้านจนหวาดกลัวไปทั่ว
วันขึ้น 15 ค่ำ ทิดมากกลับมาในเวลาพลบค่ำแต่ก็ยังพอเห็นทางเดินแบบลางๆ เนื่องจากเป็นคืนพระจันทร์เต็มดวง เมื่อถึงบ้านก็เห็นแม่นาคนั่งร้องเพลงกล่อมลูกอยู่ที่เรือนชานก็รู้สึกดีใจรีบวิ่งไปหาลูกเมีย แต่ต้องสะดุ้งสุดตัวที่ร่างกายนางนาคเย็นผิดปกติ ก็ไม่ได้สงสัยอะไรมากนัก ระหว่างนั้นแม่นาคก็จัดแจงยกสำรับกับข้าวออกมาให้ผัวกินและก็บังเอิญที่ทิดมากทำช้อนตกลงพื้นเรือนแม่นาคจึงเอื้อมมือไปเก็บอย่างรวดเร็วทำให้ทิดมากรู้สึกแปลกใจ
ต่อมาชาวบ้านก็แอบกระซิบบอกทิดมากว่านางนาคได้ตายไปนานแล้วและตายทั้งกลมด้วย
ที่พ่อมากเห็นแม่นาคอุ้มลูกน้อยนั้นนะเป็นผี ไม่ไช่คน ประกอบกับตนเองก็เห็นพฤติกรรมแปลกๆอยู่หลายครั้ง จึงตัดสินใจหนีไปอาศัยอยู่ที่วัดมหาบุศย์ ทำให้นางนาคต้องออกติดตามหาผัว พร้อมกับเที่ยวหลอกหลอนชาวบ้านด้วยความโกรธแค้น จนไม่มีใครกล้าเดินผ่านวัด สร้างความเดือดร้อนไปทั่ว ต่อมาชาวบ้านได้ไปตามหมอผีมาปราบ และจับวิญญาณแม่นาคใส่หม้อดินไปถ่วงน้ำ พร้อมกับอุทิศส่วนกุศลให้วิญญาณไปผุดไปเกิด ไม่ต้องมาวนเวียนหลอกหลอนชาวบ้านอีกต่อไป
เรื่องราวโดยย่อของแม่นาคพระโขนงก็จบลงแต่เพียงเท่านี้
สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://www.photoontour.com/CityTour_HTML/watmahabudth/watmahabudth.htm
ผู้เขียนบล็อก : น.ส.เพ็ญแข หวังปรุงกลาง นักเรียนโรงเรียนขามสะแกแสง
ครูผู้สอนเขียนบล็อก : ครู เพียรผจง เนตระกูล

Monday, April 14, 2008

วันแรงงานแห่งชาติ



วันแรงงานแห่งชาติ
ความเป็นมา

แรงงานคือพลังการผลิต นับเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดผลผลิตในระบบเศรษฐกิจ พลังของผู้ใช้แรงงานจะแฝงอยู่ในผลผลิตทุกชิ้น ความมั่นคงก้าวหน้าหรือความอ่อนแอล้าหลังทางเศรษฐกิจย่อมชี้ขาดด้วยพลังการผลิตคือแรงงาน
เมื่ออุตสาหกรรมขยายตัว แรงงานก็มีปัญหา และปัญหาแรงงานดังกล่าวก็มีความสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น ในเมืองไทยได้เริ่มมีการจัดการบริหารแรงงานขึ้นในปี พ.ศ.2475 เมื่อรัฐบาลได้ออกพระราชบัญญัติจัดหางาน พ.ศ.2475 และพระราชบัญญัติจัดหางานประจำท้องถิ่น พ.ศ.2475การบริหารแรงงาน หมายถึงการจัดสรรและพัฒนาแรงงานคุ้มครองดูแลสภาพการทำงาน สร้างรากฐานและขบวนการส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ศึกษาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับภาระการสร้างงานการประกอบอาชีพ
เมื่อ พ.ศ.2477 ได้มีการจัดตั้งกองกรรมกรขึ้น ทำหน้าที่ด้านการจัดหางานและศึกษาภาวะความเป็นอยู่ของคนงานทั่วไป พ.ศ.2499 รัฐบาลได้ขยายกิจการด้านแรงงานสัมพันธ์มากขึ้นและประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับแรกในปี พ.ศ.2508 และปีเดียวกันได้มีการตั้งกรมแรงงานขึ้น อีกทั้งประกาศใช้พระราชบัญญัติกำหนดวิธีระงับข้อพิพาทแรงงาน

ปัจจุบัน การบริหารแรงงานอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมมีงานสำคัญเกี่ยวข้องกับแรงงานดังนี้
1. การจัดหางาน ด้วยการช่วยเหลือคนว่างงานให้มีงานทำ ช่วยเหลือนายจ้างให้ได้คนมีคุณภาพดีไปทำงาน รวบรวมเผยแพร่ข่าวสารเกี่ยวกับการทำงาน แหล่งงาน ภาวะตลาดแรงงาน
2. งานแนะแนวอาชีพ ให้คำปรึกษาแก่เยาวชนและผู้ประสงค์จะทำงาน เพื่อให้สามารถเลือกแนวทางประกอบอาชีพที่เหมาะสมตามความถนัด ความสามารถทางร่างกาย คุณสมบัติ บุคลิกภาพและความเหมาะสมแก่ความต้องการทางเศรษฐกิจ
3. การพัฒนาแรงงาน ส่งเสริมพัฒนาฝีมือแก่คนงานและเยาวชนที่ไม่มีโอกาสศึกษาต่อโดยการฝึกแบบเร่งรัด
4. งานคุ้มครองแรงงาน วางหลักการและวิธีการเกี่ยวกับชั่วโมงทำงาน วันหยุดงาน ตลอดจนการจัดให้มีสวัสดิการต่างๆ
5. งานแรงงานสัมพันธ์ทำการส่งเสริมและสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างให้ทั้งสองฝ่ายเข้าใจถึงลักษณะและสภาพของปัญหา ตลอดจนวิธีการที่เหมาะสมที่จะช่วยขจัดความเข้าใจผิดและข้อขัดแย้งอื่นๆ
ด้านกรรมกร ได้มีการจัดตั้งกลุ่มสหภาพแรงงานขึ้นหลายร้อยกลุ่มและรวมกันจัดตั้งสภาองค์การลูกจ้างขึ้น ทำหน้าที่พิทักษ์สิทธิให้กับผู้ใช้แรงงาน ปัจจุบันมี 3 สภา ได้แก่
1. สภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย
2. สภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทย
3. สภาองค์การแรงงานแห่งประเทศไทย

เพื่อเป็นการยกย่องผู้ใช้แรงงานในประเทศไทย รัฐบาลได้กำหนดให้วันที่ 1 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันแรงงานแห่งชาติ ตามคณะพรรคสังคมนิยมระหว่างชาติได้กำหนดไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2432 โดยประเทศในยุโรปส่วนมากก็กำหนดวันที่ 1 พฤษภาคม เป็นวันแรงงาน ในวันนี้ผู้ใช้แรงงานส่วนใหญ่จะได้รับอนุญาตจากนายจ้างให้หยุดงานได้ 1 วันเพื่อเฉลิมฉลองและตระหนักถึงหน้าที่ความสำคัญของผู้ใช้แรงงาน
สามารถหาข้อมูลของวันเเรงงานแห่งชาติเพิ่มเติมได้ที่
ผู้เขียนบล็อก
น.ส.เพ็ญแข หวังปรุงกลาง
ครูผู้สอนเขียนบล็อก
คุณครู เพียรผจง เนตระกูล

Thursday, April 10, 2008

เปิดตำนานพญาครุฑ

ครุฑ เทพพาหนะของพระนารายณ์ เป็นโอรสพระกัศยปมุนี (ฤาษีตนหนึ่งในเจ็ดตนที่เรียกว่า สัปตฤษี หรือพระประชาบดี) และนางวินตาหรือนางทิติธิดาองค์หนึ่งของ พระทักษประชาบดี พระทักษประชาบดีนี้น เป็นโอรสของพระพรหม และเป็นผู้มีภริยามาก มีธิดาถึง 50 องค์ ยกให้เป็นชายาพระยมเสีย 10 องค์ ยกให้ พระจันทร์เสีย 27 องค์ (27 นักษัตร) และยกให้พระกัศยปเสีย 13 องค์ ในจำนวนธิดา 13 องค์นี้ที่เป็นชายาของพระกัศยปมีอยู่สององค์ คือนางวินตามารดาครุฑ และนางกทรูมารดาของพวกพญานาค นางวินตามีโอรสสององค์ คือครุฑและอรุณ ซึ่งต่อมาได้เป็นสารถีของ พระสุริยเทพ เมื่อนางวินตาคลอดครุฑโอรสองค์แรกออกมานั้น เป็นฟองไข่ ครุฑจึงได้มีลักษณะคล้ายนกไป ส่วนนางกทรูมีโอรสพันองค์ ล้วนเป็นพญานาคทั้งนั้น
ครุฑ เมื่อแรกเกิด ร่างกายขยายตัวออกใหญ่โตจนจรดฟ้า ดวงตาเมื่อกะพริบเหมือนฟ้าแลบ เวลาขยับปีกที่ใดบรรดาขุนเขา ก็ตกใจต้องปลาดหนีไปพร้อมกับพระพาย รัศมีที่พวยพุ่ง ออกจากกาย มีลักษณะดั่งไฟไหม้ทั่วทั่วสี่ทิศ กระทำให้ทวยเทพ ต้องตกใจสำคัญว่าเป็นพระอัคนี ต่างพากันมาบูชาครุฑ เพื่อขอความคุ้มครองจากครุฑ อีกตำราหนึ่งว่าครุฑนั้นมีรูปร่าง และลักษณะดังนี้ เศียรจงอยปากปีและเล็บเป็นอย่างนกอินทรี ท่อนกายตัวและแขนขาเป็นอย่างคน หน้าเป็นสีขาว ปีเป็นสีแดง (ของ จีนว่าปีกทอง) กายตัวเป็นสีทอง มีโอรสชื่อสัมปาติ (สัมพาที) และชฎายุ (แต่บางตำราว่า สัมปาติและชฎายุเป็นโอรสของพระอรุณ) มีชายาชื่ออุนนติหรือวินายกา

ครุฑ เป็นศัตรูกับพญานาคอย่างรุนแรง เหตุเกิดขึ้นเพราะนางวินตามารดาครุฑทะเลาะกันขึ้น กับนางกทรูมารดาพวกพญานาค ด้วยเรื่องเถียงและพนันกันว่าสีม้าที่เกิดขึ้น เมื่อคราวทวยเทพ และอสูรกวนน้ำอมฤตนั้นเป็นสีอะไร นับแต่นั้นมาครุฑและพวกพญานาคก็ไม่ถูกกันต่างพยาบาท มาดร้ายกันอยู่ คราวเมื่อครุฑแต่งงาน พวกพญานาค เกรงว่าถ้าครุฑมีผู้สืบเชื้อสาย เมื่อใด ก็จะเป็นภัยแก่พวกพญานาคและพวกลูกหลานของตน จึงยกพวกหวังไปสังหารครุฑแต่ถูกครุฑ ฆ่าพวกพญานาคตายเกือบหมด คงเหลือรอดชีวิตอยู่เพียงตัวเดียว ซึ่งครุฑเอามาคล้องคอ เป็นสังวาล ชาวฮินดูที่ถือความขลังความศักดิ์สิทธิ์ เมื่อจะเข้านอนมักออกชื่อครุฑ เป็นอย่างบริกรรมมนต์ ว่าถ้าทำอย่างนั้นจะพ้นภัยจากงูอสรพิษกัด
ครุฑ มีชื่อเรียกอยู่มากมายหลายชื่อ เช่น กาศยปิและเวนไตย อันเป็นชื่อสืบมาจากกัศยปและวินตา สุบรรณและครุฑมาน คือเจ้าแห่งนก สิตามันมีหน้าขาว รักตปักษ์ มีปีกแดง เศวตโรหิต มีสีขาวและแดง สุวรรณกาย กายมีสีทอง คคเนศวร เป็นเจ้าแห่งอากาศ ขเคศวร ผู้เป็นใหญ่แห่งนก นาคานตกและนาคนาศนะศัตรูแห่งนาค สรรปาราติ ศัตรูแห่งงู ตรสวิน ผู้เคลื่อนไปเร็ว รสายนะ ผู้เคลื่อนไปอย่างปรอท กามจารินผู้ไปตามอำเภอใจ กามายุส ผู้อยู่ด้วยความยินดีแห่งกาม จิราท ผู้กินนาน อมฤตาหรณ์และสุธาหร ผู้ลักน้ำ อมฤต สุเรนทรชิต ผู้ชนะพระอินทร์ วัชรชิต ผู้ปราบชนะสายฟ้า
รูปครุฑเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระมหากษัตริย์ ที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เนื่องจากเป็นความเชื่อในลัทธิสมมุติเทวราช ที่ถือว่ากษัตริย์คืออวตารของพระนารายณ์ ที่ลงมาปกครองบ้านเมือง และเมื่อพระนารายณ์มีครุฑเป็นพาหนะของพระองค์ ครุฑจึงกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญไปด้วย การใช้รูปครุฑเป็นตราแผ่นดินและเครื่องหมายของทางราชการ กำหนดขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๖ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ใช้รูป ครุฑรำ หรือเรียกว่า พระราชลัญจกรพระครุฑพ่าห์ นอกจากนี้ ยังใช้ตราครุฑเป็นตราหัวกระดาษของหนังสือ หรือแบบฟอร์มในราชการอีกด้วย สำหรับภาคธุรกิจเอกชนที่มีเครื่องหมายครุฑพ่าห์ประดับอาคารได้นั้น ต้องมีคุณสมบัติเหมาะสมตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติ จึงจะได้รับพระราชทานตราตั้ง หรือหนังสือรับรองการพระราชทานพระบรมราชานุญาต มีคำว่า "โดยได้รับพระบรมราชานุญาต" อยู่เบื้องล่างของตราครุฑนั้น เพื่อแสดงว่า เป็นผู้ได้รับพระราชทานให้ใช้ตราแผ่นดินในกิจการได้

ร่วมเปิดตำนานพญาครุฑโดย
ผู้เขียนบล็อก
น.ส.เพ็ญแข หวังปรุงกลาง
นักเรียนโรงเรียนขามสะแกแสง
ครูผู้สอนเขียนบล็อก
ครู เพียรผจง เนตระกูล